กุกกุฏชาดก


ว่าด้วย ผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้

กุกกุฏชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๙. กุกกุฏชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๐๙)

ว่าด้วยไก่             

(ไก่ต้องการจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ว่า)             

[๑๑๗] ต้นหูกวาง ต้นสมอพิเภกในป่า ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นไม่สามารถจะเคลื่อนที่ได้เหมือนกับท่าน             

(นายพรานกล่าวว่า)             

[๑๑๘] ไก่ตัวนี้คือไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมา เป็นไก่ที่ฉลาด หลบหนีจากบ่วงหางสัตว์มาได้ และยังขันเยาะเย้ยเสียอีก

กุกกุฏชาดกที่ ๙ จบ

-----------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

กักกรชาดก

ว่าด้วย ผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุหนุ่มผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกายของตน ไม่ฉันของเย็นจัด ร้อนจัด เพราะเกรงว่าร่างกายจะไม่สบาย ไม่ออกไปข้างนอก เพราะเกรงว่าร่างกายจะกระทบหนาวและร้อน ไม่ฉันจังหันที่แฉะและเป็นท้องเล็น. เพราะภิกษุหนุ่มนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย จึงปรากฏไปในท่ามกลางสงฆ์.
               ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นเป็นผู้ฉลาดในการรักษาร่างกายเป็นอย่างดี. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้ มิใช่ฉลาดในการรักษาร่างกายในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เธอก็เป็นผู้ฉลาดเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่าใหญ่. ครั้งนั้น มีพรานนกคนหนึ่งอุ้มไก่ต่อตัวหนึ่ง ถือบ่วงและแร้ว เที่ยวดักไก่ในป่าอยู่ เริ่มจะดักไก่ตัวหนึ่งซึ่งเป็นไก่ของตนมาก่อน หนีเข้าป่าไป. ไก่ตัวนั้นเพราะเข้าใจในบ่วง จึงไม่ยอมเข้าติดบ่วง ถอยหนีไปเรื่อยๆ . นายพรานจึงเอากิ่งไม้และใบไม้คลุมกำบังตนไว้ เลื่อนคันแร้วและบ่วงตามไปเรื่อยๆ.
               ฝ่ายไก่อยากจะให้นายพรานละอายใจ จึงพูดเป็นภาษามนุษย์ กล่าวคาถาแรกว่า:-

               ต้นหูกวาง และสมอพิเภกทั้งหลายในป่า เราเคยเห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเดินไปเหมือนกับท่านไม่ได้.
               คาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนสหายพราน เราเคยเห็นต้นหูกวางและสมอพิเภกเป็นอันมากเกิดในป่านี้ ต้นไม้เหล่านั้นไม่เคลื่อน ไม่ก้าว ไม่เดินเหมือนท่านก้าวเคลื่อนเดินไปทางโน้นทางนี้ได้ฉะนั้น.
               ก็และครั้นไก่นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไปเสียที่อื่น.
               ในเวลาที่ไก่หนีไป นายพรานจึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมาได้นี้ เป็นไก่ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไปและยังขันเย้ยเสียด้วย.
               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พรานก็เที่ยวไปในป่าจับไก่ตามที่ดักได้กลับเรือน.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พรานในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้.
               ไก่ได้เป็นภิกษุหนุ่มผู้ฉลาดในการรักษาร่างกาย
               ส่วนรุกขเทวดาผู้เห็นเหตุการณ์อย่างประจักษ์ คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถากักกรชาดกที่ ๙

----------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #รุกขเทวดา
หมายเลขบันทึก: 718118เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2024 04:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2024 04:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท