แนวคิดทางยุทธการกับการบริหารจัดการภารกิจงานในเชิงการปฏิบัติการในพื้นที่


1. ที่มา

          การบริหารจัดการเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้ภารกิจขององค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ด้วยความแตกต่างในลักษณะของภารกิจงานและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้การบริหารจัดการภารกิจงานขององค์กรอาจจำเป็นต้องนำแนวคิดที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการด้วย โดยเฉพาะการบริหารจัดการภารกิจงานในเชิงการปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องตามหลักการบริหารจัดการแล้ว อาจมีเงื่อนไขในเรื่องทางภูมิศาสตร์ และภูมิสังคม รวมทั้ง สภาพแวดล้อมที่แตกต่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   

2. หลักการบริหารจัดการ

2.1 การบริหารจัดการ

การบริหาร (Management) เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการแสวงหาความร่วมมือและวิธีการดำเนินการที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ภารกิจขององค์กรบรรลุตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

คำว่า “การบริหาร” (Management) มักเป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการบริหาร สำหรับการบริหารที่เกี่ยวข้องอื่น ได้แก่ “การบริหาร” (Administration) ซึ่งมักใช้กับการบริหารราชการหรือระดับการกำหนดนโยบาย และคำว่า “การจัดการ” (Management) ซึ่งมักใช้กับการบริหารธุรกิจเอกชนหรือระดับการปฏิบัติการตามนโยบาย

กระบวนการบริหาร (Management Process) ประกอบด้วย 1. การวางแผน (Planning) 2. การจัดองค์การ (Organizing) 3. การนำ (Leading) และ 4. การควบคุม (Controlling) 

การจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) เป็นกระบวนการของการกำหนด การพิจารณาตัดสินใจ และนำเอาความคิดเชิงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ โดยกระบวนการสำคัญ คือ การวางกลยุทธ์ (Strategic Formulation) หรือการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategic Implementation) และการควบคุมและประเมินกลยุทธ์ (Strategic Control & Evaluation) 

2.2 ระดับของการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการภายในองค์กร โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 

1) การจัดการระดับสูง (Upper level management) หรือการจัดการระดับกลยุทธ์ (Strategic Management Level) โดยผู้บริหารระดับสูงทำหน้าที่ กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ ทิศทาง เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ขององค์กร การวางแผนกลยุทธ์และแผนระยะยาว และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จและการเจริญเติบโตขององค์กรในระยะยาว 

2) การจัดการระดับกลาง (Middle-level Management) หรือการจัดการระดับยุทธวิธี (Tactical Management Level) โดยผู้บริหารระดับกลาง ทำหน้าที่ในการสั่งการและแปลงนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ การวางแผนยุทธวิธี (Tactical Planning) หรือการวางแผนบริหาร (Administrative Planning) โดยประสานดำเนินการร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ในการดำเนินการวางแผนระยะสั้นหรือระยะกลาง การวิเคราะห์กระบวนการ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดสรรทรัพยากร การกำกับดูแล ให้คำแนะนำ การติดตามประเมินผล และการเสนอแนะการพัฒนาปรับปรุง

3) การจัดการระดับต้น (Lower-level Management) หรือการจัดการระดับปฏิบัติการ (Operational Management Level) โดยผู้บริหารระดับต้น ทำหน้าที่การวางแผนปฏิบัติการ การควบคุมและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่ผู้บริหารระดับกลางกำหนด โดยการใช้ทรัพยากรบุคคล เงิน และวัสดุอุปกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่า รวมทั้ง การคาดการณ์และการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น 

3. แนวคิดทางยุทธการ

          3.1 ทฤษฎีการทำสงคราม

ทฤษฎีทางการทหารสมัยใหม่ แบ่งการสงครามออกเป็น 3 ระดับ คือ 

1) ระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Level) เกี่ยวข้องกับแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ การกำหนดนโยบาย การสนับสนุนนโยบาย และความสัมพันธ์ของพลังอำนาจของชาติอื่นๆ การวางแผนและการเตรียมพลังอำนาจแห่งชาติที่จะทำสงคราม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ โดยการทำลายล้างหรือคุกคามขีดความสามารถหลักในการสนับสนุนการทำสงครามของศัตรู จนหมดความสามารถในการทำสงครามหรือยุติเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามต่อไป

2) ระดับปฏิบัติการหรือระดับยุทธการ (Operational Level) เป็นการใช้กำลังทางทหารในยุทธบริเวณ เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ทหาร โดยการวางแผน การจัดหน่วย การปฏิบัติการรบ และการควบคุมกิจกรรมทางทหาร เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทหารกับยุทธวิธี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการริเริ่มปฏิบัติและการประยุกต์ใช้ทรัพยากรภายในยุทธบริเวณ รวมทั้ง การวางแผน อำนวยการ และประสานการปฏิบัติเพื่อขยายผลทางยุทธวิธี 

3) ระดับยุทธวิธี (Tactical Level) เป็นการปฏิบัติการทางทหารที่ประกอบกันเป็นการยุทธ์ (Campaign) โดยการดำเนินกลยุทธ์และการใช้กำลังเข้าทำการรบ โดยการแปลงศักยภาพทางกำลังรบให้สามารถเข้าปะทะจนประสบความสำเร็จ การประยุกต์ใช้อำนาจกำลังรบทำลายข้าศึกเฉพาะเวลาและพื้นที่ ด้วยการใช้อำนาจการยิง การดำเนินกลยุทธ์ การสนธิกำลัง และการขยายผลที่จะทำลายข้าศึกต่อไป 

ความสัมพันธ์ของระดับของสงคราม คือ ระดับปฏิบัติการหรือระดับยุทธการจะเชื่อมโยงระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเข้าด้วยกัน ระดับปฏิบัติการเป็นศิลป์ในการเอาชนะ (Ways) โดยใช้ผลทางยุทธวิธีเป็นวิธีการ (Means) และใช้วัตถุประสงค์ทางทหารเป็นเป้าหมาย (End) 

3.2 แนวคิดทางยุทธการ

บทความ ในวารสารนาวิกาธิปัตย์สาร เรื่อง แนวคิดทางยุทธการและกองทัพเรือในอนาคต ซึ่งเขียนโดย นาวาเอกคำรณ พิสณฑ์ยุทธการ ได้กล่าวถึงแนวคิดทางยุทธการไว้ ดังนี้

แนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) เป็นการอธิบายการกำหนดการปฏิบัติการทางทหารในการทำสงครามในระดับยุทธการ (Operational Level of War) รวมทั้ง ยังใช้อธิบายการปฏิบัติการทางทหารและขีดความสามารถทางทหารต่าง ๆ ด้วย แนวคิดทางยุทธการเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ แนวคิดทางทหาร (Military Concepts) ซึ่งหมายถึงหลักการ (Method) หรือแบบแผน (Scheme) ในการใช้ขีดความสามารถทางทหารเฉพาะอย่างให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยแนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) เป็นการอธิบายลักษณะของการใช้กำลังรบทางทหารโดยครอบคลุมการปฏิบัติในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี ดังนี้

1) การรบระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Level of War) ใช้แนวคิดทางยุทธศาสตร์ (Strategic Concepts) เป็นการอธิบายถึงวิธีการต่าง ๆ ที่องค์ประกอบของพลังอำนาจแห่งชาติจะถูกนำไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์

2) การรบระดับยุทธการ (Operation Level of War) ใช้แนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) เป็นการอธิบายรูปแบบต่าง ๆ ในการปฏิบัติการ ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่หลากหลาย

3) การรบระดับยุทธวิธี (Tactical Level of War)  ใช้แนวคิดทางยุทธวิธี (Tactical Concepts) หรือแนวความคิดในการปฏิบัติ (Concept of Operation) เป็นการอธิบายหนทางปฏิบัติที่เลือกใช้ในการปฏิบัติภารกิจ  

4. แนวคิดทางยุทธการกับการบริหารจัดการ

3.1 กรอบความคิด 

ด้วยการนำแนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) ประยุกต์กับการบริหารจัดการ (Management) ในการวางแผน การจัดองค์กร การนำหรือการบังคับบัญชา และการควบคุม ในการจัดการระดับกลางและระดับต้น (ระดับปฏิบัติการ)

3.2 การบริหารจัดการตามแนวคิดทางยุทธการ 

      การประยุกต์แนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) กับการบริหารจัดการ (Management) เพื่อให้การบริหารจัดการระดับกลางมีบทบาทหน้าที่สำคัญในเชิงการปฏิบัติการในพื้นที่ปฏิบัติการ และทำให้การปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติในระดับปฏิบัติการมีลักษณะของการดำเนินกลยุทธ์ตามแนวคิดทางยุทธการ จึงอาจจัดให้การจัดการระดับกลาง (Middle-level Management) ถือเป็นระดับปฏิบัติการหรือระดับยุทธการ (Operational Level ) และการจัดการระดับต้น (Lower-level Management) เป็นระดับยุทธวิธี (Tactical Level) 

การนำแนวคิดทางยุทธการ (Operational Concepts) มาประยุกต์ร่วมกับการบริหารจัดการ (Management) ในการจัดการระดับกลาง (Middle-level Management) และการจัดการระดับต้น (Lower-level Management) ด้วยการดำเนินการ ดังนี้  

1) ด้านการวางแผน โดยการนำแนวคิดของการปฏิบัติการทางทหารประยุกต์ประกอบกับการวางแผนยุทธวิธี (Tactical Plan) และแผนปฏิบัติการ (Operational Plan) โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการในพื้นที่ปฏิบัติการระดับยุทธการและระดับยุทธวิธี การประมาณสถานการณ์ การวิเคราะห์ภารกิจ ปัจจัยแวดล้อมการ กำหนดหนทางปฏิบัติ การกำหนดภารกิจ แนวคิดในการปฏิบัติ องค์ประกอบของการปฏิบัติ จุดมุ่งหมาย ขีดความสามารถ ความต้องการกำลังคน ทรัพยากร และเวลาที่เหมาะสม  

2) ด้านการจัดองค์กร โดยการกำหนดโครงสร้างการจัดองค์กรหรือหน่วยปฏิบัติที่มีความเป็นเอกภาพ มีความกลมกลืนกับภารกิจ ความเหมาะสมในการใช้กำลังคน ทรัพยากร และเครื่องมืออุปกรณ์ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และการบูรณาการหรือการสนธิกำลังในการปฏิบัติกับหน่วยอื่น

3) ด้านการบังคับบัญชาและการสั่งการ โดยการกำหนดโครงสร้างการบังคับบัญชา สายการบังคับบัญชาและการแบ่งมอบอำนาจที่ชัดเจน การมอบหมายภารกิจและการสั่งการให้มีความชัดเจนในรูปแบบการสั่งการ รายละเอียดการปฏิบัติ แนวทางทางปฏิบัติ และคำแนะนำการปฏิบัติ รวมทั้ง แนวทางการประสานการปฏิบัติ การบูรณาการ และการสนธิกำลังกับหน่วยอื่น 

4) ด้านการควบคุม โดยการควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ โดยผู้บริหารตามลำดับทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ติดตามให้คำแนะนำและประเมินผลการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผน ตามหลักการควบคุมทางยุทธการ การควบคุมทางยุทธวิธี การควบคุมทางธุรการ และการสนับสนุนการปฏิบัติ

นอกจากนี้ สามารถนำหลักการปฏิบัติภารกิจทางการทหารมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้คือ ความมีเอกภาพในการบังคับบัญชา (Unity of Command), การมีวัตถุประสงค์ (Objective) ของการปฏิบัติที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย, การปฏิบัติการเชิงรุก (Offensive) อย่างเต็มกำลังเพื่อให้ได้รับความสำเร็จให้มากที่สุด, การรวมกำลัง (Mass) ของหน่วยปฏิบัติอย่างรวดเร็วในพื้นที่และเวลาที่กำหนด, การดำเนินกลยุทธ์ (Maneuver) ด้วยการปฏิบัติการตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเพื่อสร้างความได้เปรียบ, การออมกำลัง (Economy of Force) ด้วยการผ่อนกำลัง การสนธิกำลัง หรือใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการปฏิบัติ, การรักษาความปลอดภัย (Security) ด้วยการรักษาความลับและการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน, การจู่โจม (Surprise) ด้วยการปฏิบัติที่รวดเร็วจากความพร้อมที่มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี, หลักความง่าย (Simplicity) ด้วยการวางแผนหรือวิธีการปฏิบัติที่สามารถเข้าใจตรงกันได้ง่ายจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติสำหรับทุกฝ่าย, เอกภาพในความพยายาม (Unity of Effort) การมีจุดมุ่งหมายและมีความพยายามที่จะมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จด้วยกัน, และสุดท้าย ขวัญและกำลังใจ (Morale) เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติงานให้อย่างเต็มที่

……………………………………………………..

 

 

อ้างอิง

ประเวศน์ มหารัตน์สกุล. (2560). กลยุทธ์การวางแผนและการจัดการ. กรุงเทพฯ : ปัญญาชน.

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์. (2564). การบริหารเชิงกลยุทธ์. พิมพ์ครั้งที่ 21. อมรินทร์ฮาวทู.

สมยศ นาวีการ. (2538). การบริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า.

ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ. (2545). องค์การและการจัดการ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมสาร. 

https://courses.lumenlearning.com/

https://groupwork55.wordpress.com/

https//navedu.navy.mi.th/การยุทธ์กองทัพเรือ.pdf

https://ndsi.rtarf.mi.th/ RTAF_Doctrine_2020.pdf

https://reactive-executive.com/

หมายเลขบันทึก: 718051เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2024 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2024 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท